โครงการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและรายได้สำหรับผู้สูงอายุโดยร่วมกับนักเรียนและเยาวชน ดำเนินการโดยโรงเรียนมีชัยพัฒนา ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมสร้างสรรค์สังคมผ่านพลังเยาวชนรุ่นใหม่ โดยการให้นักเรียนจากโรงเรียนมีชัยพัฒนาทำหน้าที่ส่งต่อความรู้ด้านการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับผู้สูงอายุในชุมชน เพราะเชื่อว่าโรงเรียนคือประตูสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเน้นไปยังกลุ่มเปราะบางที่สุดของสังคม คือ ผู้สูงอายุ ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วจำนวน 5 หมู่บ้าน รวม 75 ครอบครัว ผลจากการทำงานสร้างแรงกระเพื่อมให้หมู่บ้านอื่น ๆ โดยรอบอยากเข้าร่วมโครงการ ทางโรงเรียนมีชัยพัฒนา ภายใต้การนำทัพของอาจารย์มีชัย วีระไวทยะ จึงประสงค์ขยายให้ครอบคลุมทั้ง 16 หมู่บ้านของตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ที่แสดงผ่านคำพูดตอกย้ำถึงก้าวแรกแห่งความสำเร็จของอาจารย์มีชัย ว่า “เรากำลังเริ่มพิสูจน์ให้เห็นว่านี่คือ กลยุทธ์ใหม่ในการพัฒนาโดยมีโรงเรียนเป็นประตูไปสู่ความเจริญ เพราะโรงเรียนมีทรัพยากรพร้อมและเป็นเสมือนเพชรเม็ดใหม่ของการพัฒนา”

ปาท่องโก๋คู่ต่างวัยขับเคลื่อนพลังชุมชน

“ผู้สูงอายุเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้คนเห็นแสงสว่าง ซึ่งนับเป็นมาตรการใหม่ในการพัฒนา สร้างความเจริญและความเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนนอกเมือง โดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” คำกล่าวของอาจารย์มีชัย ที่หมายมั่นใช้กระบวนการทำงานเชื่อมความต่างระหว่างรุ่นให้เกิดความสมัครสมานกลมเกลียวในชุมชน โดยกระบวนการที่ชื่อว่า คู่กันเป็นปาท่องโก๋ โดยเน้นการจับคู่เพื่อทำงานร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุและเยาวชน ดังคำกล่าวของคุณอัมพร มูลติปฐม หัวหน้าทีมปฏิบัติการอาวุโส เล่าว่า“เราจับคู่กันเน้นให้เยาวชนในหมู่บ้านหรือลูกหลานผู้สูงอายุที่ได้รับคัดเลือกหรือนักเรียนของโรงเรียนมีชัยพัฒนาจับคู่กับผู้สูงอายุแต่ละครอบครัวให้มาทำงานคู่กัน รวมถึงช่วยดูแลช่วยเหลือทั้งในเรื่องของแรงงานที่ผู้สูงอายุไม่สามารถทำได้และเรื่องของการเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรพื้นที่น้อย น้ำน้อย แรงน้อย เช่น การปลูกผักในเข่ง การทำถังหมักรักโลก การเพาะเห็ดนางฟ้า รวมถึงการเข้าไปดูเรื่องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในชุมชน” ซึ่งพบว่าความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ช่องว่างระหว่างวัยลดน้อยลง โดยผู้สูงอายุต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “โครงการนี้ทำให้มีความสุขมากขึ้น ไม่เหงา มีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการค้าขายพืชผักต่าง ๆ"

ผู้สูงอายุเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้คนเห็นแสงสว่าง
ซึ่งนับเป็นมาตรการใหม่ในการพัฒนา สร้างความเจริญและ
ความเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนนอกเมือง
โดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา

มีชัย วีระไวทยะ

สร้างอาหาร เสริมรายได้ ให้ผู้สูงอายุในสภาวะวิกฤติโควิด-19

วิกฤติโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย ก่อให้เกิดการปรับตัวด้านวิธีการทำงานในทุกภาคส่วนซึ่งต่างต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ เทคโนโลยีและวิธีการต่าง ๆ ถูกนำมาปรับใช้เพื่อการแก้ปัญหา เช่นเดียวกับโรงเรียนมีชัยพัฒนาได้ School Sandbox วิธีการที่คุณอัมพร เล่าว่า “ทางคณะทำงานจะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ภาคส่วน คือเจ้าหน้าที่ภาคสนามซึ่งจะอยู่ประจำในทุกหมู่บ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานร่วมกับชุมชนทำให้สามารถออกชุมชนได้ และเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนในโรงเรียนมีชัยพัฒนาจึงให้ทำงานผ่านระบบออนไลน์ โดยรับหน้าที่ในการอบรมให้ความรู้ ทำความรู้จักคุ้นเคย แนะนำตัว ผ่านระบบออนไลน์ มีการจัดตั้งกลุ่มไลน์ของแต่ละหมู่บ้านโดยให้ลูกหลานของผู้สูงอายุเข้ามาช่วยถ่ายภาพ ทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย บัญชีผลผลิตที่เกิดขึ้น จึงเกิดเป็นรูปแบบการทำงานและตามงานผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นการปรับกระบวนการทำงานโดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องการทำงานช่วงโควิด-19” ด้านการสร้างรายได้มีการพึ่งพาเทคโนโลยีผ่านการซื้อขายโดยลูกหลานของผู้สูงอายุจะโพสต์ในออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคได้สั่งผลผลิต จากนั้นจึงนำผลิตผลไปส่งให้ลูกค้ายังครัวเรือนต่าง ๆ วิธีการเช่นนี้นอกจากจะทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้ บางครอบครัวยังมีเหลือพอเจือจุนลูกหลานที่ตกงานยังต่างพื้นที่อีกด้วย เหมือนดังที่คุณอัมพร เล่าว่า “การทำโครงการในระบบออนไลน์ช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีมุมที่ดี นั่นคือ สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุ จากอดีตที่ลูกหลานออกไปทำงานนอกพื้นที่และส่งเงินมาให้ เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ลูกหลานตกงานกลุ่มผู้สูงอายุจึงได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการกลับกลายเป็นว่าผู้สูงอายุบางคนยังส่งเงินจากการขายพืชผักไปให้ลูกหลานที่อยู่กรุงเทพมหานคร”

ผู้สูงอายุยิ้ม เยาวชนสุข หมู่บ้านสงบ

“การเปลี่ยนแปลงจากโรงเรียนไปสู่หมู่บ้านแล้วกระจายไปสู่ชุมชนและครอบครัว ทำให้โรงเรียนกับชุมชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สร้างให้นักเรียนเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาหมู่บ้าน” คือคำพูดของอาจารย์มีชัย ที่แสดงให้เห็นกลไกสำคัญแห่งการคืนรอยยิ้มของความสุขเมื่อเศรษฐกิจพัฒนา คืนคุณค่าแก่วัยวันอันชราให้มีความหมาย ผ่านการทำงานร่วมกันของเยาวชนและผู้สูงอายุ เพราะอาจารย์ต้องการเห็นเด็ก ๆ ที่อาจารย์พัฒนาเป็น “Chang Maker ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตนเองและสิ่งที่สัมผัส สร้างให้เป็นคนมีความซื่อสัตย์ รู้จักแบ่งปัน ไม่คดโกง ส่งเสริมความเสมอภาค และเคารพสิทธิของผู้อื่น มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพควบคู่ไปกับหลักสูตรแกนกลาง ทำธุรกิจเพื่อสังคม มีความเห็นอกเห็นใจผู้ด้อยโอกาส ไม่ย่อท้อ อดทน ค้นคว้าหาคำตอบเป็น” การทำงานในวันนี้เป็นสิ่งพิสูจน์ความสำเร็จขั้นหนึ่ง และยังคงจะมีขั้นต่อ ๆ ไปจากคำมั่นของผู้บริหารเช่น อาจารย์มีชัย ที่กล่าวว่า “โรงเรียนมีชัยพัฒนาจะทำอย่างเต็มที่เพื่อเติมเต็มให้สมบูรณ์มากที่สุดและออกมามีประโยชน์มากที่สุด” เช่นเดียวกับคุณอัมพร กล่าวถึงความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการคืนรอยยิ้มและคุณค่าให้กับผู้สูงอายุไว้ว่า “ในฐานะผู้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานร่วมกับผู้สูงอายุทำให้รู้สึกเกิดความสุขและ ไม่เคยคิดเลยว่าการทำงานคือภาระ

แต่คิดว่างานทุกอย่างที่ทำคือความสุข ยิ่งเห็นรอยยิ้มจากผู้สูงอายุยิ้ม เห็นชุมชนมีความสุขก็ทำให้เราทำงานอย่างสบายใจและทั้งหมดทั้งมวลคือ เรามีผู้นำที่มีแนวคิดการพัฒนา นั่นคือ ท่านอาจารย์มีชัยที่เป็นไอดอลให้กับทุกคน ทั้งนี้การช่วยเหลือชุมชนทั้งทางด้านกำลังกาย กำลังใจ กำลังความรู้ เข้าไปสร้างความประทับใจให้กับผู้สูงอายุด้วยใจจริงจนผู้สูงอายุจำเจ้าหน้าที่ได้เพียงเท่านี้ก็มีความสุขแล้ว”

ทั้งนี้รอยยิ้มของผู้สูงอายุ ชุมชนที่มีความแข็งแกร่งด้านอาหาร อาจารย์มีชัย กล่าวว่า “ต้องขอขอบคุณมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาและเข้ามาช่วยเติมเต็มการสร้างรอยยิ้มให้กับผู้สูงอายุและเยาวชนในชุมชน”