โครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ ดำเนินงานโดยมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มุ่งดำเนินงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการว่างงานเมื่อต้องประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ และ ศรีสะเกษ ผลแห่งความสำเร็จภายหลังการน้อมนำแนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำควบคู่ไปกับการสร้างงานให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19 ทำให้พื้นที่ 5 จังหวัด 5 อำเภอ 5 โครงการ มีน้ำสำหรับทำการเกษตรถึง 4,314 ไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 608 ครัวเรือน ซึ่งนับเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์แก่ประชาชนอย่างมหาศาล

ปิดทองหลังพระ ชุบชีวิตสร้างชุมชนจากแนวพระราชดำริ

เพราะ “น้ำคือชีวิต” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529 คือแนวทางสำคัญที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ยึดถือปฏิบัติเพื่อช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับแผ่นดินไทยรวมถึงใช้แก้ไขปัญหาเมื่อทั่วทั้งสังคมต้องพบกับภัยจากโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่เข้ามาในสังคมไทยเป็นระลอกแรก มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจหากแต่เร่งแก้ไขปัญหา ดังที่คุณจำเริญ ยุติธรรมสกุล ที่ปรึกษาสถาบัน ปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ รักษาการเลขาธิการมูลนิธิรากแก้ว กล่าวว่า “ในระยะแรกมูลมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จัดทำพื้นที่ต้นแบบขึ้นใน 9 จังหวัด ได้แก่ น่าน อุทัยธานี เพชรบุรี อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยเข้าสำรวจข้อมูลผู้ว่างงานและค้นหาแหล่งน้ำที่มีความชำรุดเสียหาย นำมาสู่การอนุมัติโครงการ 543 โครงการครอบคลุม 100 อำเภอ ซึ่งจะยังประโยชน์ให้กับเกษตรกรถึง 39,855 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูกถึง 174,430 ไร่ให้ได้รับน้ำเพื่อการเกษตร ส่วนในระยะที่ 2 จะมุ่งพัฒนาพื้นที่เพื่อการเกษตรในลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำสาขา ซึ่งข้อมูลจากสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติชี้ว่าประสบปัญหาภัยแล้งอยู่เสมอ ครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร ประกอบด้วยโครงการย่อยทั้งหมด 500 โครงการ ดำเนินงานในระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 216 ล้านบาท”

ประสานพลังเครือข่ายร่วมกันพัฒนาน้ำอย่างยั่งยืน

การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” บนฐานคิดที่มุ่งเน้นให้คนไทยสามารถ “พึ่งพาตนเองได้” โดยบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำมาสู่การทำความเข้าใจ และความพยายามในการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และอยู่บนฐานที่ประชาชนในพื้นที่โครงการมีส่วนร่วมในการคิด วางแผน และปฎิบัติในแต่ละขั้นตอนให้มากที่สุด

การดำเนินการเริ่มจากการสร้างความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ก่อนที่จะเริ่มงานซึ่งประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่ร่วมโครงการจะเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มแรกผ่านการคัดเลือกของทีมงานมูลนิธิฯ บนฐานคิดที่จะพัฒนาคุณภาพของประชาชนที่เข้ามาเป็นบุคลากรให้สามารถทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการ และภาคส่วนอื่น ๆ โดยหวังผลว่าในที่สุดแล้ว ชุมชนจะสามารถมีส่วนร่วม ตั้งแต่การปรับปรุง ซ่อมแซม และเสริมประสิทธิภาพแหล่งน้ำ ระบบกระจายน้ำ และพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรหลังจากมีน้ำ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่สามารถฝ่าวิกฤติสังคมไทยด้วยวิธีการที่ประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดได้ในอนาคต ซึ่งเป็นการประยุกต์ตามแนวพระราชดำริการพัฒนาที่ยั่งยืน และการมีส่วนร่วมซึ่งโครงการวางไว้เป็นหลัก

ฝ่าวิกฤติโควิด-19 เพื่อชุมชนไทยพูนสุข

มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ พร้อมรับการเผชิญปัญหาจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และทำงานตามที่คุณจำเริญ ยุติธรรมสกุล กล่าวว่า “มูลนิธิปิดทองหลังพระทำงานโดยยึดหลัก สืบสาน รักษา ต่อยอด โดยมีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องทฤษฎีใหม่ เริ่มจากการพัฒนาระบบน้ำ การปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมที่ชำรุดและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรเพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดในภาวะวิกฤติ” ซึ่งต้องอาศัยความเข้มแข็งจากชุมชน ดังเช่น “การระเบิดจากข้างในซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะเป็นฐานสำคัญในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อเตรียมพร้อมการพัฒนาสู่สังคมภายนอก”

เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและชุมชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ จึงสนับสนุนเพียงวัสดุอุปกรณ์ ส่วนพี่น้องประชาชนต้องสละแรงในการทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ส่งผลให้ชุมชนมีแหล่งน้ำใช้อย่างยั่งยืน

การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์พระราชทาน
“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” บนฐานคิดที่มุ่งเน้น
ให้คนไทยสามารถ “พึ่งพาตนเองได้”
โดยบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ปิดทองหลังพระผู้เสริมสร้างความสำเร็จของแหล่งน้ำในชุมชน

โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในประเด็นว่าด้วยการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการสานต่อโครงการในพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร์ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงริเริ่มเอาไว้ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มูลนิธิปิดทองหลังพระ ได้เริ่มการดำเนินการในพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในพื้นที่นั้นมีน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน และเป็นการสร้างงานให้แก่ผู้ว่างงานในพื้นที่ไปพร้อมกับการพัฒนาศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ ให้มีภูมิคุ้มกันรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ การดำเนินการอาศัยหลักการ การพัฒนาแบบปิดทองหลังพระ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เป็นผู้สนับสนุนเงิน และวัสดุอุปกรณ์ให้ประชาชนในพื้นที่โครงการ และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการ คิด วางแผน และปฎิบัติ ตลอดจนรับผิดชอบดูแลพื้นที่ของตนได้ในอนาคต ด้วยอาศัยการที่ประชาชนจะได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้ดีขึ้นเป็นหลักใหญ่ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เป็นเสมือนหนึ่งพี่เลี้ยงประคับประคองอยู่เบื้องหลัง เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่โครงการจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้ สอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนมากที่สุด