โครงการพัฒนาทักษะสมองเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน (Executive Functions Approach) : โครงการพัฒนาพื้นที่บูรณาการการส่งเสริม EF
เป็นโครงการที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินงานร่วมกับภาคี สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) และภาคี Thailand EF Partnership เพื่อให้เด็กไทยได้รับการพัฒนาสมองส่วนหน้า ที่จะเป็นพื้นฐานให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ โดยโครงการทำงานแบบบูรณาการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งพื้นที่ มีทุกภาคส่วนหน่วยงาน ตั้งแต่พ่อแม่ ครู หมอ พยาบาล ผู้นำชุมชน ร่วมมือกัน โดยมีเด็กเป็นตัวตั้งและเป็นเป้าหมายในการพัฒนา ปัจจุบันมีโรงพยาบาลพญาเม็งราย และภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ของ อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย เป็นพื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบ (พื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบ - ขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน โดยสถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ภายใต้ชื่อโครงการ “การพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนการส่งเสริมทักษะสมองเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนในประเทศไทย” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ – สสส.) และได้เริ่มขยายผลไปยังเครือข่ายสาธารณสุขในอีกหลายพื้นที่ ทั้งในระดับอำเภอและระดับจังหวัดในอนาคต

ทำไมต้องพัฒนาทักษะสมอง EF ?

EF หรือ “Executive Functions” “ทักษะสมองเพื่อจัดการชีวิตให้สำเร็จ” คือกระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้า ที่ช่วยกำกับความคิด การวิเคราะห์ การตัดสินใจ แก้ปัญหา ควบคุมอารมณ์ วางแผน และทำออกมาเป็นพฤติกรรมเป้าหมายได้ งานวิจัยจำนวนมากชี้ว่า ถ้าเด็กได้รับการพัฒนาทักษะสมอง EF จะมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ดีขึ้นโดยอัตโนมัติ ตอบโจทย์หลักการสำคัญของเด็กปฐมวัย เด็กที่มี EF ดี จะมีภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดี เรียนรู้ได้ดี มีวินัย มีความรับผิดชอบที่จะผลักดันตัวเองไปในทิศทางที่เป็นเป้าหมายของชีวิต

ถ้าจะขยายความแบบนักวิทยาศาสตร์ Executive Functions คือชุดกระบวนการทางความคิด (Mental Process) ที่ช่วยให้เราวางแผน จดจ่อใส่ใจ มีความจำเพื่อใช้งาน และจัดการกับงานหลายๆ อย่างที่ประดังเข้ามาให้ลุล่วงเรียบร้อยได้ สามารถจัดลำดับสำคัญของงาน วางเป้าหมายเป็นขั้นเป็นตอนจนสำเร็จ รวมทั้งควบคุมแรงอยาก แรงกระตุ้นทั้งหลายไม่ให้สนใจไปนอกลู่ทาง เหมือนกับระบบควบคุมในสนามบินที่ต้องจัดการกับเที่ยวบินเข้าออกหลายสิบเที่ยวในเวลาเดียวกัน

ในโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรงและซับซ้อน พลิกผัน เต็มไปด้วยสิ่งเร้า คนที่มีทักษะ EF ดี จะมีความยับยั้งชั่งใจ สามารถควบคุมกำกับตัวเองได้ ยากที่จะตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงความสามารถในการปรับตัวรับมือกับสิ่งใหม่ และสามารถแก้ไขปัญหาที่ยากของชีวิตได้ EF จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยและทำกิจการงานต่าง ๆ ให้สำเร็จได้

คนที่มีทักษะ EF ดี จะมีความยับยั้งชั่งใจ
สามารถควบคุมกำกับตัวเองได้ ยากที่จะตกเป็นเหยื่อ สามารถปรับตัว
รับมือกับสิ่งใหม่ และสามารถแก้ไขปัญหาที่ยากของชีวิตได้

รู้จักโมเดลต้นแบบพื้นที่บูรณาการส่งเสริม EF

ปัจจุบันการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะสมอง EF เด็กและเยาวชนในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อตัวขึ้นอย่างแข็งขันหลายพื้นที่ มีพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย โดยใช้ต้นแบบจากการดำเนินงานของโรงพยาบาลพญาเม็งราย อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย ซึ่งได้ดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนางานแม่และเด็กในพื้น อ.พญาเม็งรายมาอย่างต่อเนื่อง และได้นำองค์ความรู้เรื่องการส่งเสริมทักษะสมอง EF เข้ามาเสริมในการดำเนินงานพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่ปี 2559 โดยมีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องในชุมชนทุกกลุ่ม ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพ่อแม่ผู้ปกครอง มีทีมสาธารณสุขที่เข้มแข็งจากโรงพยาบาลพญาเม็งรายเป็นแกนนำ

โรงพยาบาลพญาเม็งราย จ.เชียงราย ได้พบถึงผลดีจากการดำเนินโครงการเป็นอย่างมาก โดยพบว่าเด็กปฐมวัยหลายคนมีการพัฒนาในเชิงบวก มีวินัย ไม่แซงคิว รู้จักวางแผนการเล่น ฯลฯ ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีความสนใจเด็กดีขึ้น ตื่นตัวเรื่องการพัฒนาสมอง และรู้ว่าจะพัฒนา EF ให้ลูกได้อย่างไร เช่นเดียวกับครูที่พบความเปลี่ยนแปลงว่าควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดีขึ้น จัดการกับเด็กได้ด้วยความสัมพันธ์เชิงบวก เป็นต้น

ขณะที่ชุมชนในพื้นที่มีความเข้าใจพื้นฐานเรื่องเด็กดีขึ้น ฝ่ายปกครองหรือผู้นำชุมชนมีวิสัยทัศน์ร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ จัดสรรงบประมาณ จัดกิจกรรมขับเคลื่อนเดินหน้า โรงพยาบาลเกิดเครือข่ายสุขภาวะเด็กที่ขยายขึ้น มีคู่มือส่งเสริม EF ฝ่ายการศึกษาก็ร่วมสนับสนุน เรียนรู้ และเชื่อมโยงเครือข่าย เปิดพื้นที่ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยไปในทิศทางเดียวกัน เกิดเป็นเครือข่ายพลังชุมชนช่วยส่งเสริมกัน

“เชียงของ โมเดล” ให้เด็กไทย-ชนเผ่า คิดเป็น ทำเป็น

จากความสำเร็จของโรงพยาบาลพญาเม็งราย ภาคีเครือข่ายจึงใช้โมเดลจากอำเภอพญาเม็งราย เป็นแม่ข่ายในการขยายผลต่อยอดไปสู่พื้นที่อำเภอเชียงของ โดยทำงานกับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน 7 ตำบลที่ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ “เชียงของโมเดล” จึงเป็นอีกหมุดหลักของโครงการที่น่าสนใจ

เด็กเล็กที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเวียงแห่งนี้มีประมาณ 30-40 คน ส่วนใหญ่อายุ 2-3 ขวบ 80% เป็นชาวเผ่าม้ง ต้องใช้ทั้งภาษาไทยและภาษาชนเผ่าในการสื่อสาร จึงค่อนข้างฝึกยาก “ครู EF จะไม่ใจร้อน ไม่บังคับ ไม่สั่ง แต่จะใช้คำพูด การสื่อสารในเชิงบวกกับเด็ก” ครูพลอย พิชัยยา ครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเวียง เล่าให้ฟัง

หลังจากได้เข้าร่วมฝึกอบรม EF กับทางโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชและเครือข่ายฯ ก็นำความรู้ที่ได้มาฝึกเด็ก ๆ ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น เน้นจินตนาการ จากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผ่านกิจกรรมเสียงเพลง การทำสมาธิ การวาดภาพ ปั้นดินน้ำมัน และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมทักษะสมองให้กับเด็ก

“ครู EF จะต้องรับรู้ ต้องเอาใจเข้าไปใส่ในเรื่อง EF ก่อน มันถึงจะเกิดผลกับพฤติกรรมเด็ก เพราะ EF ไม่มีสูตรสำเร็จ อยู่ที่เราจะใช้พฤติกรรมไหนกับเขา จะพูดยังไง การสื่อสารสำคัญที่สุด มันเป็นเรื่องวินัยเชิงบวก การใช้คำพูด การสื่อสาร การคิดในทางที่ดี ฝึกให้เด็กได้ทำเอง ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่มีถูกผิด”

ข้อดีในการขับเคลื่อน EF ในพื้นที่เทศบาลตำบลเวียงคือ ผู้ปกครองให้ความร่วมมือมีส่วนร่วม ขณะที่ชุมชนก็ให้ความสำคัญกับการช่วยพัฒนาเด็ก พัฒนาโรงเรียน

พี่พรจันทร์ บุญยืน

คุณแม่น้องดิเรก-กิตติกรณ์ จันต๊ะคาด นักเรียนประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเวียง วัย 4 ขวบบอกว่า ทักษะ EF ช่วยให้ลูกเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมาก จากที่เอาแต่ร้องไห้ ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าทำกิจกรรม กลายเป็นกล้าแสดงออกมากขึ้น มีความคิด แก้ไขปัญหาเองได้ เวลากลับมาบ้านก็จะเล่าให้พ่อแม่ฟังว่าครูที่โรงเรียนสอนอะไรบ้าง ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แม่ก็จะพาไปสวน ไปปลูกผัก ปลูกพริก น้องก็ชอบและสนุก ที่ได้ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นนอกห้องเรียนด้วย “รู้สึกภูมิใจที่ลูกเราเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ น้องดีขึ้นมาก ๆ เวลาบอกให้ช่วยแม่ทำงานบ้าน น้องก็จะช่วย เวลาจะออกไปไหนก็จะขออนุญาตก่อน ต้องขอบคุณครูที่อบรมเรื่อง EF ให้ผู้ปกครอง ทำให้คนเป็นพ่อแม่รู้สึกตื่นตัว กลับไปบ้านก็ต้องช่วยฝึกลูกต่อจากครู จะได้ให้ลูกมีความจำ มีความคิด แก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง”

พี่ออม-ดลหทัย จตุรคเชนทร์เดชา

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ ในฐานะองค์กรหลักการขับเคลื่อน EF อำเภอเชียงของ ให้ข้อมูลว่า หลังจากมีการจัดอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง EF ให้กับเครือข่ายโรงพยาบาล ผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และฝ่ายปกครองท้องถิ่น ทั้งในระดับอำเภอและตำบลในอำเภอเชียงของ พบว่า แต่ละภาคส่วนเริ่มให้ความใส่ใจและเข้าใจถึงการพัฒนาเรื่อง EF ในเด็กได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ 7 ตำบล ที่แม้แต่ละพื้นที่จะอยู่ห่างไกล ติดชายแดน แต่กลับมีความตื่นตัวในการขับเคลื่อนเรื่อง EF เป็นอย่างมาก ทีแรกทีมงานและวิทยากรตั้งใจจะทดลองขับเคลื่อนตำบลละ 1 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แต่ปรากฏว่าขณะนี้ทุกตำบลอยากขับเคลื่อน EF พร้อมกันทุกศูนย์ ทำให้ทีมงานต้องนำข้อมูลจากการลงพื้นที่มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ว่าในแต่ละตำบลมีความต้องการอะไร หลังจากนั้นจะหาหลักสูตรลงไปขับเคลื่อนให้ถูกจุดถูกต้อง

คุณอรทัย ฮงประยูร

นายกเทศมนตรีตำบลเวียง อ.เชียงของ เปิดเผยว่า เทศบาลให้ความสำคัญและพร้อมจะสนับสนุนทั้งยุทธศาสตร์และงบประมาณการทำงานด้าน EF ในพื้นที่ รวมทั้งยังให้กำลังใจครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ปกครอง ในการขับเคลื่อนกิจกรรม EF ให้เกิดความก้าวหน้า เพราะการลงทุนกับเด็ก เป็นการลงทุนในระยะยาว เป็นเรื่องของการสร้างชาติที่ต้องใช้เวลา เป็นการทำเรื่องเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ small but beautiful และเป็นเรื่องของกุศลผลบุญด้วย