โครงการจ้างงานเยาวชนชนเผ่าและกลุ่มเปราะบางผู้ที่ตกงานจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยให้การอบรมเพื่อทำงานดูแลผู้สูงอายุ ดำเนินการโดย บริษัทบัดดี้โฮมแคร์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกันเสริมสร้างกลไกการดูแลผู้สูงอายุ ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในภาวะวิกฤติ ในเขตพื้นที่ 8 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยอำเภอเมือง อำเภอสะเมิง อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอจอมทอง พื้นที่จังหวัดเชียงรายในอำเภอแม่สรวย และจังหวัดลำปางในอำเภอห้างฉัตร โดยมีวัตถุประสงค์ให้ครอบครัวผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจนและอาสาสมัครจำนวน 1,000 คนได้รับความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุผ่านการอบรมและแอปพลิเคชั่นบัดดี้โฮมแคร์ และผู้สูงอายุในครอบครัวจำนวน 600 คนได้รับการดูแล ผู้ที่ตกงานจากสถานการณ์โควิด-19 และเยาวชนชนเผ่าในพื้นที่โครงการได้รับการจ้างงานจำนวน 36 คน

จากนักขับเคลื่อนสู่ผู้สร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม

วิสาหกิจเพื่อสังคม บัดดี้ โฮมแคร์ ริเริ่มมาจากการเล็งเห็นถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนสองช่วงวัยในประเทศไทย ได้แก่ ผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแลและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาในมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ จึงทำให้ คุณเจนวิทย์ วิโสจสงคราม (เจน) คุณนราธิป เทพมงคล (ยุ้ย) และคุณอรพรรณ์ มงคลพนาสถิต (เอ๋) หารือร่วมกันเพื่อก่อตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งการสร้างงานสร้างรายได้และการแก้ไขปัญหาทางสังคม

“เมื่อผู้สูงอายุในประเทศไทยประสบปัญหาที่เอื้อต่อการดูแลที่ดี ส่งผลให้ผู้สูงอายุที่มีฐานะปานกลางไม่สามารถเข้าถึงการบริการของคนรวย ในขณะเดียวกันก็ยังไม่จนมากพอจะเข้ากรอบบริการของคนจน” คุณเจนวิทย์ เล่าถึงสาเหตุของบัดดี้ โฮมแคร์ ที่วางเป้าหมายหลักในการช่วยกลุ่มผู้สูงอายุที่ตกหล่นจากการเข้าถึงการบริการที่ดีมีคุณภาพ พร้อมกันนั้นก็ประสานงานกับมูลนิธิที่ทำงานด้านเด็ก เพื่อนำพาน้อง ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าที่ขาดโอกาสทางการศึกษามายกระดับความรู้และทักษะ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุไปพร้อมกัน เปรียบเสมือนการยิงปืนเพียงนัดเดียว ได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของนกถึงสองตัว

“เดิมทีเราใช้อาสาสมัครเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ แต่พบว่าอาสาไม่ได้ต้องการทำงานด้านนี้เป็นหลัก จึงเปลี่ยนมาเป็นแนวคิดการคัดเลือกคนที่ต้องการหลุดพ้นจากความยากจนเข้ามาอบรม ทั้งด้านการทำงาน และทักษะชีวิต” ซึ่งผลปรากฏว่าเมื่อเยาวชนมีรายได้ และมีทักษะการบริหารจัดการการเงินที่ดี ครอบครัวก็มีภาระหนี้สินครัวเรือนลดลง มีต้นทุนทำการเกษตร ชุมชนจึงอยากส่งลูกหลานไปเรียนมากขึ้น จึงได้ทั้งแก้ไขปัญหาสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตคน และพร้อมกันนั้นก็เปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชน ให้เห็นคุณค่าของการศึกษา ซึ่งมีกรณีให้เห็นแล้วในเชิงประจักษ์ สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้บัดดี้ โฮมแคร์เชื่อในแนวทางที่เดินอยู่และมีแรงผลักดันที่จะก้าวไปข้างหน้า

โครงการนี้ได้ทำให้ครอบครัวผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน
และอาสาสมัครจำนวน 1,000 คน ได้รับความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ
ผ่านการอบรม และแอปพลิเคชั่นบัดดี้โฮมแคร์ เป็นการช่วยทั้ง
ผู้สูงอายุ และเยาวชนชนเผ่าในพื้นที่โครงการที่จะได้รับการจ้างงาน

จับมือช่วยกันเดิน

ในฐานะที่เป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่ตั้งใจจะแก้ปัญหาสังคมที่มีมากและเรื้อรัง การจะทำงานให้สำเร็จได้ย่อมหมายถึงการจับมือกันหลายภาคส่วน ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือก จนถึงการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม

“บัดดี้ให้ความสำคัญถึงบทบาทการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นอย่างมาก กลไกการคัดกรองจึงต้องมี 3 ขั้นตอน โดยชุมชน เจ้าหน้าที่พยาบาลวิชาชีพของบัดดี้ โฮมแคร์ และเจ้าหน้าที่แพทย์-พยาบาลจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” คุณอรพรรณ์ เล่าถึงการคัดกรองซึ่งจะดูทั้งความพร้อมทางสภาพทางจิตใจ ทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุ สุขอนามัยส่วนตัวและความรักในงานบริการ เพื่อให้แน่ใจว่าการส่งเสริมนั้นเป็นไปอย่างถูกทิศถูกทาง

หลังกระบวนการคัดเลือก เยาวชนจะเข้าฝึกอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้นเป็นเวลาสามเดือน (420 ชั่วโมง) และลงพื้นที่บ้านเกิด ตรวจสุขภาพให้ผู้สูงอายุตามบ้าน พร้อมกับให้ความรู้ ซึ่งทำให้ครอบครัวภูมิใจ กลายเป็นหน้าเป็นตาของหมู่บ้าน เป็นต้นแบบให้คนในชุมชน โดยทางบัดดี้ โฮมแคร์ จะติดตามต่อเนื่องรอบด้านทั้งระหว่างเรียนและหลังเรียนจบ เพื่อต่อยอดการทำงานต่อไป

โควิด-19 เข้ามา ยิ่งต้องเดินหน้าต่อไป

ความท้าทายของการทำงานไปพร้อมกับการระบาดของโรคก็เป็นสิ่งที่บัดดี้ โฮมแคร์ ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการปิดหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ และข้อจำกัดในการเข้าพื้นที่ แต่เมื่อความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุไม่ได้ลดลง การปรับตัวจึงเกิดขึ้น เข้าสู่รูปแบบออนไลน์ทั้งการสัมภาษณ์ และหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุของคณะพยาบาล รวมถึงแผนการขยายการทำงานในอนาคต

คุณเจนวิทย์ กล่าวถึงการพัฒนากระบวนการภายหลังการปรับตัวทำงานภายใต้วิกฤติโควิด-19 “ในอนาคตการเติบโตไปข้างหน้าจะใช้กระบวนการออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทั้งการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ การเรียน Life Skill ของเยาวชน พัฒนาในเชิงองค์ความรู้ที่มีไปสู่คอนเทนต์ออนไลน์ และขยายโอกาสการเข้าถึงให้กลุ่มคนจำนวนมากขึ้น” ซึ่งเป็นแนวทางที่มองไปถึงการทำงานข้ามพื้นที่ ในรูปแบบของ Franchising โดยใช้การทำงานของบัดดี้ โฮมแคร์ เป็นต้นแบบ ประกอบกับกระบวนการหนุนเสริม การอบรม การหาคน รวมถึงระบบเทคโนโลยีที่นำไปใช้ แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ และการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมเข้ามาใช้

“ในอนาคตการเติบโตไปข้างหน้าจะใช้กระบวนการออนไลน์มากยิ่งขึ้น
ทั้งการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ การเรียน Life Skill ของเยาวชน
พัฒนาในเชิงองค์ความรู้ที่มีไปสู่คอนเทนต์ออนไลน์
และขยายโอกาสการเข้าถึงให้กลุ่มคนจำนวนมากขึ้น”

เจนวิทย์ วิโสจสงคราม

เติบโตไปด้วยกัน

เมื่อเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม การขยายสาขา จึงไม่ใช่แค่การเติบโตของบัดดี้ โฮมแคร์ แต่เราทุกคนจะเติบโตไปด้วยกันทั้งสังคม เหมือนเช่นที่ คุณอรพรรณ์ กล่าวว่า "การทำงานนี้ทำให้รู้สึกว่ามีสันติสุขในทุกวัน เราเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เคยยากจน ขาดโอกาส จนวันนี้จากโอกาสที่เราเคยได้รับ เราได้ส่งมอบกลับสู่สังคม ได้เห็นน้อง ๆ เรียนหนังสือ มีอาชีพ ดีใจที่เด็กเติบโตและออกไปสร้างความมั่นคงในชีวิต ดูแลตัวเองได้ มีความเติบโต และจะกลายเป็นเครือข่ายการทำงานต่อไป ซึ่งจะช่วยขยายงานของบัดดี้ โฮมแคร์ให้เติบโตต่อ ถ้ามองการณ์ไกล เปิดใจกว้าง ๆ เราจะดีใจที่เด็กเติบโตบนเส้นทางของตนเอง และวันนี้มีความสุขมากขึ้น คือ มีคนเห็นและอยากเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาร่วมกัน”

เมื่อบริษัทอยู่ได้อย่างยั่งยืน จากการที่มีเงิน มีความรู้มากขึ้น ก็ขยายโอกาสเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไปได้ ส่งผลต่อคุณค่าให้แก่คนในวงกว้าง อย่างที่คุณอรพรรณ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและขยายออกไป การสร้างโอกาสกับคนที่บัดดี้ดูแล คือผลสุดท้ายที่เราอยากเห็น”