สามารถรับชม โครงการดนตรีพลังบวก “วงปล่อยแก่” ได้ที่

โครงการดนตรีพลังบวก “วงปล่อยแก่” โชว์พลังในงาน
“เสียงอดีตสร้างจินตนาการ จ.อุดรธานี”

รับชมเทปบันทึกเสียงอดีตสร้างจินตนาการ จ.อุดรธานี ได้ทาง

โครงการดนตรีพลังบวก “วงปล่อยแก่” เป็นโครงการที่มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข โดยการสนับสนุนของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มต้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้มีสุข ให้มีไฟที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งที่อยากทำอีกครั้ง โดยใช้เสียงเพลงและดนตรีเป็นสื่อในการสร้างสรรค์พัฒนากิจกรรมร่วมกัน วงปล่อยแก่ ที่บ้านคา จังหวัดราชบุรี ถือเป็นโมเดลนำร่องที่มีเป้าหมายในการขยายผลไปยังภูมิภาคต่าง ๆ

ทำความรู้จักดนตรีพลังบวก “วงประสานเสียงผู้สูงวัย”

ชีวิตของผู้สูงวัย ที่ตำบลบ้านคา อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี กลับมามีความสุขมีชีวิตชีวาราวกับเป็นหนุ่มเป็นสาวอีกครั้ง หลังได้เข้าร่วมโครงการดนตรีพลังบวก “วงปล่อยแก่”

จุดเริ่มต้นโครงการนี้เกิดขึ้นจากการที่ ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข มีแนวคิดอยากทำวงขับร้องหมู่ปล่อยแก่ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ เพราะอยากเห็นผู้สูงวัยมีความสุข จากการได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ไม่อยากให้มานั่งซึมเศร้า จมทุกข์ รอวันสุดท้ายของชีวิต บวกกับปัจจุบันสังคมไทยกำลังเจอปัญหาวิกฤตด้านต่าง ๆ จากภาวะสังคมผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจารย์สุกรีและทีมงานจึงอยากใช้เสียงเพลงและดนตรีเป็นตัวช่วยเยียวยาจิตใจให้ผ่อนคลาย โดยเฉพาะผู้สูงวัยในพื้นที่ชุมชนชายขอบห่างไกลความเจริญ

แต่ด้วยความที่ยังไม่เคยทำโครงการนี้กับกลุ่มผู้สูงอายุมาก่อน ทีมงานจึงค่อย ๆ เริ่มทดลองทำกับกลุ่มคนเล็ก ๆ ชุมชนเล็ก ๆ โดยลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจัง กระทั่งมาพบกับกลุ่มชมรมผู้สูงอายุที่ตำบลบ้านคา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุอยู่แล้ว มีกิจกรรมให้ทำเป็นประจำเดือนละหนึ่งครั้ง มาพูดคุย ร่วมกิจกรรม มาร้องรำทำเพลงด้วยกัน

เมื่อทีมงานเข้าไปพบปะพูดคุยคลุกคลีกับชาวบ้าน รวมทั้งสอบถามข้อมูลเชิงลึกจากคนในพื้นที่ ทั้งจากคุณหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ก็พบว่า ผู้สูงอายุที่นี่จำนวนไม่น้อยมีภาวะซึมเศร้าสูง จากปัญหาการเจ็บป่วย มีโรคประจำตัว รายได้ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวลกับชีวิตในบั้นปลาย

นอกจากนี้ ผู้สูงวัยหลายคนยังอยู่บ้านคนเดียว หรือไม่ก็อยู่กับหลาน เพราะลูก ๆ ไปทำงานหรือไปเรียนหนังสืออยู่ที่กรุงเทพฯ จึงเก็บตัวอยู่กับบ้าน ไม่ชอบพูด ไม่ชอบแสดงออก หรือสุงสิงกับใคร แต่อีกจำนวนหนึ่งก็มีนิสัยร่าเริงแจ่มใส ชอบร้องเพลง ชอบพูด ชอบเต้น เพราะรู้สึกเหมือนชีวิตได้ปลดปล่อย

หลังจากสำรวจข้อมูลครบถ้วนแล้ว ทีมงานจึงเริ่มทดลองทำแบบจริงจังตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยมีครูสอนร้องเพลงลงมาสอนและทำกิจกรรมร่วมกันให้ถึงพื้นที่เดือนละ 1-2 ครั้ง กระทั่งสามารถฝึกฝนและเริ่มฟอร์มวงปล่อยแก่ขึ้นมาได้คือสุขภาวะทางใจที่ดี คือชีวิตที่มีคุณค่ามากขึ้น

ผลที่ได้รับตอบกลับมา เป็นไปในเชิงบวกเกินคาด โดยเฉพาะผลทางด้าน “สุขภาวะทางจิตใจ” ของผู้สูงอายุหลังเข้าร่วมโครงการที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน อาทิ ชีวิตสดใสมีชีวิตชีวามากขึ้น สนใจดูแลตัวเองมากขึ้น ภูมิใจกับชีวิตมากขึ้น มีไฟลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบมากขึ้น มีเรื่องพูดคุยกับคนในครอบครัวมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยคุย เป็นต้น

ผลที่ได้รับตอบกลับมาเป็นไปในเชิงบวกเกินคาด
โดยเฉพาะผลทางด้าน“สุขภาวะทางจิตใจ” ของผู้สูงอายุ
หลังเข้าร่วมโครงการที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน

คุณสุพินดา มโนมัยพิบูลย์ ผู้จัดการมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ผู้ดูแลโครงการดนตรีพลังบวก วงปล่อยแก่ เล่าให้ฟังว่า “..เราทำแบบจริงจัง ปักหลักไปทำให้เป็นวง มองในเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาวะทาง จิตใจ มีการประเมินว่าก่อนเข้าร่วมโครงการเป็นยังไง ระหว่างทางเป็นยังไง ถอดบทเรียนหลังโครงการเป็นยังไง ทำควบคู่กันไปเพื่อจะได้ไปตอบชาวบ้านได้ว่า ที่เขายิ้ม เขาหัวเราะ เขามีความสุข เขามีจริง ๆ หรือเปล่า”

“..นอกจากนี้หลังจากการถอดบทเรียนพบว่า ผู้สูงวัยกลับมาสนุกสนานร่าเริงเหมือนเด็ก ๆ อีกครั้ง จากเมื่อก่อนจะเกร็ง ๆ ไม่ค่อยกล้าพูด กล้าคุย บางคนบอกว่า ชีวิตเกิดมาทำไร่ทำสวนอย่างเดียว ไม่คิดว่าจะร้องเพลงได้ เป็นแต่ผู้ฟัง จนมาเข้าร่วมโครงการปล่อยแก่ ทำให้ร้องเพลงได้ นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง แต่มากกว่านั้นมันมีหลายมิติเชิงบวกเกิดขึ้น โครงการอยากให้บ้านคาเป็นโมเดลนำร่อง ให้คนสามารถเอาไปทำต่อได้”

ที่สำคัญยังพบว่า “..การนำคนสูงอายุมาอยู่ร่วมกันด้วยการใช้เสียงเพลงหรือดนตรีเป็นสื่อ มันสามารถจูนความเป็นสังคมของผู้สูงอายุได้ดีขึ้น เพราะกว่าที่จะเกิดมาเป็นเพลงหนึ่งเพลง มันผ่านกระบวนการเบื้องหลังหลายขั้นตอน เลยทำให้เกิดสังคม มีความสามัคคี มีระเบียบวินัยเกิดขึ้น โดยที่ผู้สูงอายุไม่รู้ตัว” คุณสุพินดา กล่าว

คุณเพลินพิศ พรมแสนปัง

ในวัย 77 ปี เล่าว่า เธอหนีชีวิตวุ่นวายและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีจากกรุงเทพฯ มาใช้ชีวิตบั้นปลายด้วยการปลูกต้นไม้ใหญ่อยู่กับธรรมชาติและสัตว์เลี้ยงที่ราชบุรี แต่ช่วงแรกที่มาไม่ค่อยมีเพื่อน ไม่ค่อยได้ออกไปไหน เพราะ มีโรคประจำตัว ลูก ๆ ทำงานอยู่กรุงเทพฯ ขับรถก็ไม่เป็น ต้องอาศัยเพื่อนบ้านคอยช่วยเหลือ

แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ รู้สึกมีความสุขมาก สุขภาพก็ดีขึ้น สภาพจิตใจดีขึ้นมาก รู้สึกรักโครงการนี้ สุขทุกครั้งที่ได้มา เพราะส่วนตัวชอบร้องเพลงอยู่แล้ว แต่เสียงไม่ดี เลยอยากมาฝึกร้องเพลงกับคุณครูที่มีความชำนาญ จะได้ปรับความรู้เรื่องการร้องเพลงให้ถูกต้อง อย่างน้อยก็จะได้ไปถ่ายทอดให้เพื่อน ๆ ให้ลูกหลาน ๆ ร้องเพลงให้ถูกคีย์

คุณเพลินพิศ ยังบอกความรู้สึกว่า “..โครงการนี้เพิ่มคุณค่าให้กับชีวิต บอกไม่ถูกว่ามันสุขยังไง แต่อย่างน้อยที่สุด พอเรามีความสุขแล้ว เราก็มีความคิด จะมองอะไรในแง่บวก อะไรที่ไม่ดี ก็จะมองข้ามไป แล้วก็ให้อภัย ทุกวันนี้แม้ว่าเราเป็นคนต่างถิ่น แต่มีความผูกพัน คนที่นี่ให้ความรักกับป้า อยู่ที่นี่รับรองได้ว่า ป้าเข้าบ้านไหน ป้าไปทานข้าวได้หมดทุกหลัง มันเป็นความประทับใจ แล้วก็มีความสุขมาก”

โครงการนี้เพิ่มคุณค่าให้กับชีวิต
บอกไม่ถูกว่ามันสุขยังไง
แต่อย่างน้อยที่สุด
พอเรามีความสุขเราก็มีความคิดจะมองอะไร
ในแง่บวก
อะไรที่ไม่ดีก็จะมองข้ามไป แล้วก็ให้อภัย

คุณป้าเพลินพิศ พรมแสนปัง วัย 77 ปี

หนึ่งในสมาชิกวงปล่อยแก่ ตำบลบ้านคา จังหวัดราชบุรี

คุณสำรวย สายันหะ

ขณะที่คุณสำรวย สายันหะ วัย 65 ปี เพื่อนสนิทคุณเพลินพิศ กล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า “..คนที่นี่ส่วนใหญ่ทำไร่กัน 90% การจะสละเวลามาร้องเพลงไม่ใช่เรื่องง่าย บางทีอยากมาแต่รู้สึกว่ายังมีภาระในไร่ต้องรับผิดชอบ ทั้งที่ส่วนตัวฉันชอบเสียงเพลง แต่ร้องไม่เป็น ทำแต่ไร่ แต่พอมาโครงการนี้แล้วก็ติดใจ มีความสุขมาก ก็ชวนเจ๊เพลินพิศมาด้วยกันตลอด เจ๊ก็ช่วยสอนฉันร้องเพลงด้วย”

หมอตุ๋น-ชยุดี พระแก้ว

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคา ในฐานะพันธมิตรเครือข่าย กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลรู้สึกยินดีและประทับใจที่ได้เข้ามาร่วมโครงการนี้ ซึ่งส่วนตัวมาสานงานต่อจากหมอหนิง (ปาริชาติ เกิดฤทธิ์) มีบทบาทช่วยประสานงานและประชาสัมพันธ์โครงการร่วมกันกับชาวบ้านและหน่วยงานราชการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง

หมอตุ๋นบอกว่า หลังจากได้เข้าร่วมโครงการและทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุวงปล่อยแก่ ได้เห็นพฤติกรรมผู้สูงอายุในพื้นที่หลายคนเปลี่ยนไปในเชิงบวกมากขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิตซึ่งกันและกัน ใช้ชีวิตสนุกขึ้น มีเพื่อนมากขึ้น บางครั้งสังเกตเห็นว่าหลังจากฝึกร้องเพลงกับวงเสร็จแล้ว ก็ยังมีการนัดรวมตัวกันไปร้องเพลงต่อที่บ้านอีกด้วย

“ส่วนตัวเห็นว่า ผู้สูงอายุกล้าที่จะแสดงออก กล้าที่จะพูดคุยกับเรามากขึ้น แม้จะเป็นเรื่องอะไรที่เล็ก ๆ แต่ก็เป็นความสุขที่เราได้ ช่วยทำให้กับคนในชุมชนมีความสุข มีชีวิตที่ดีขึ้น”

ปัจจุบันนี้ วงปล่อยแก่มีสมาชิกเข้าร่วมวงอย่างน้อย 30-50 คนแล้ว และเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยพวกเขาต่างเชื่อและหวังว่า การแก่ตัวอย่างมีคุณภาพ ด้วยการมาร้องเพลงและทำกิจกรรมร่วมกัน นอกจากจะสบายตัวสบายใจแล้ว ยังไม่เป็นภาระให้กับลูกหลาน คนใกล้ชิด และอาจรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย