โครงการสานฝันการศึกษาเพื่อน้อง เป็นการผสานพลังการทำงานระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และภาคี ในการช่วยเหลือเด็กยากจนด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งปัญหาสุขภาวะ การเรียนรู้ที่หยุดชะงักจากการที่ไม่ได้ไปโรงเรียน ไปจนถึงการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับเด็กยากจนด้อยโอกาสไม่ให้หลุดออกนอกระบบ โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือนจากโควิด-19 ที่ในการสนับสนุนทุนใช้ฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนซึ่งผ่านการคัดกรองของ กสศ. จำนวนทั้งสิ้น 762 คน จากการสำรวจข้อมูล พบว่า ประมาณร้อยละ 80 ต้องการการสนับสนุนด้านค่าเทอม/เงินบำรุงการศึกษา ทั้งนี้ทาง กสศ. ได้วางระบบติดตามเพื่อป้องกันการหลุดออกนอกระบบการศึกษา ซึ่งช่วยให้เด็กด้อยโอกาสจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน ได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนให้พ้นจากวิกฤติทางการศึกษา มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้าไปสนับสนุนนักเรียนในโครงการนี้จำนวน 200 คน

เมื่อคลื่นแห่งวิกฤติโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ถาโถมเข้าสู่ประเทศไทย

นับตั้งแต่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดเข้ามาในประเทศไทยระลอกแรก ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง คือ เด็กและเยาวชน เห็นได้จากตัวเลขการเจ็บป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่าภายในเดือนเดียว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กยากจนด้อยโอกาสที่ยากต่อการเข้าถึงการรักษา หรือความรู้สึกโดดเดี่ยวที่ต้องแยกจากพ่อแม่ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 สถานการณ์ของปัญหาดังกล่าวยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะ กสศ. จึงระดมเครือข่ายเร่งแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน ผลิพร ธัญญอนันต์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารสาธารณะและระดมความร่วมมือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า “เพราะรู้ดีว่าการดูแลเด็กหนึ่งคนไม่ได้มีเพียงมิติเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพกายเท่านั้น เพราะเด็กที่ได้รับผลกระทบต้องดูแลถึงสภาพทางจิตใจด้วย”

เมื่อถึงวันที่ส่งเด็กและเยาวชนกลับบ้านหลังหายจากความเจ็บป่วย ทำให้เห็นความจริงในอีกแง่หนึ่งว่า พ่อ แม่ของเด็กตกงานซึ่งส่งผลกระทบต่อการหลุดออกนอกระบบการศึกษาของบุตรหลาน ผลิพร กล่าวถึงสถานการณ์ในตอนนั้นว่า “กสศ. ไม่นิ่งนอนใจรีบประสานหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ป่วยเด็ก เด็กที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกด้านหนึ่ง คือ เด็กกำพร้าที่เกิดจากโควิด ทำให้เกิดการบูรณาการทำงานข้ามหน่วยงานและการรายงานสถานการณ์ข้อมูลเป็นรายวัน ทำให้เห็นตัวเลขรายคน ส่งผลให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที”

เพราะรู้ดีว่าการดูแลเด็กหนึ่งคน
ไม่ได้มีเพียงมิติเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพกายเท่านั้น
เพราะเด็กที่ได้รับผลกระทบต้องดูแลถึง
สภาพทางจิตใจด้วย

พลิกวิกฤติคืนโอกาสสู่เด็กและเยาวชนยากไร้

จากการทำงานร่วมกับเครือข่ายหลายภาคส่วนซึ่งล้วนมีความสำคัญ โดยเฉพาะภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เข้ามาเติมเต็มการบริหารจัดการให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนยากไร้ในช่วงชั้นรอยต่อเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบ ซึ่งเป็นทุนต่อเนื่องที่สมทบค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าเทอม เพราะเด็กที่ยากจนข้นแค้นถึงแม้จะได้เรียนฟรี แต่หากไร้ค่าเดินทางรวมถึงค่าอาหารก็ไม่สามารถมาเรียนได้ หรือบางคนต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว ดังนั้น ทุนที่ลงไปจึงเป็นเสมือนการต่อยอดอนาคตของเยาวชนให้หลุดพ้นจากครัวเรือนยากจนที่ประสบมาอย่างยาวนาน ดังที่ ผลิพร มองว่า “มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้นับว่าเป็นการช่วยเหลืออย่างยั่งยืน เพราะการศึกษาที่สูงขึ้นส่งผลต่ออัตราค่าจ้างแรงงาน ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิต ฐานะทางเศรษฐกิจ โดยเด็กยากจนด้อยโอกาส 15% ล่างของประเทศส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่พ่อแม่จบชั้นประถมศึกษา การที่มูลนิธิเข้ามาสร้างโอกาสให้กับน้อง ๆ ได้เรียน ม.ปลายเป็นคนแรกของครอบครัว จึงถือว่ามีคุณค่าในการสร้างหลักประกันของการศึกษาที่เสมอภาคและขจัดความยากจนข้ามรุ่น ซึ่งจะกลายเป็นต้นแบบให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนจนก้าวไปสู่คำว่าทุกคนทำร่วมกัน”

ถุงยังชีพปันยิ้มคืนสุข

สิ่งหนึ่งที่ช่วยชุบความสดใสในชีวิตของเด็กและเยาวชนที่ต้องเผชิญกับภาวะโรคระบาดโควิด-19 คือ ถุงยังชีพเพื่อการเรียนรู้หรือถุงปันยิ้ม ซึ่งบรรจุหนังสือและสิ่งของจำเป็นเช่น ของเล่น วิตามิน แมส เจลล้างมือ อาหารและขนมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยแบ่งตามช่วงอายุตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นเพื่อส่งมอบให้กับเด็ก ๆ “เด็กที่ได้รับความเจ็บป่วยย่อมมีความเครียดติดตามมา ดังนั้น การได้รับถุงปันยิ้มจึงช่วยสร้างชีวิตชีวารวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ซึ่งทำให้คลายความเครียดลงได้” ในฐานะที่อยู่หน้างานและคลุกคลีกับพื้นที่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ผลิพรยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นบริเวณที่พักย่านดินแดง เมื่อทั้งพ่อและแม่ต่างติดเชื้อโควิด-19 ด้วยกันทั้งคู่ แต่ยังต้องการให้ลูกได้อาศัยอยู่ในพื้นที่อันคุ้นเคย จึงไหว้วานให้เพื่อนบ้านช่วยดูแลพร้อมทีมอาสาสมัครซึ่งลงพื้นที่เป็นประจำทุกวันเข้าไปพูดคุยให้รู้สึกผ่อนคลายโดยใช้ถุงปันยิ้มเป็นสื่อกลางในการสนทนา พบว่า เด็กเกิดรอยยิ้มขึ้น “ถุงปันยิ้มมีประโยชน์มาก ๆ เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยปลอบประโลมทางด้านจิตใจ ชีวิตและปัญญา นับว่ามีความสำคัญซึ่งจะติดตัวไปในระยะยาว ไม่ใช่เพียงแค่ความทรงจำของวันนี้เท่านั้น”

พลังความสำเร็จจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาในก้าวต่อไป

จากการทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ. และมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า สถานการณ์วิกฤติที่ผ่านมาได้เข้าถึงเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนจากชุมชนแออัดซึ่งยากจนด้อยโอกาสทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากกว่า 25,000 คน โดยประสานและส่งตัวเพื่อเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยทางกาย และเยียวยาความรู้สึกทางด้านจิตใจซึ่งนับว่ามีความสำคัญ “เมื่อเกิดวิกฤติเราไม่ควรปล่อยเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาให้รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะจะเป็นตราที่ประทับไปตลอดชีวิต การช่วยบรรเทา ฟื้นฟูสภาพจิตใจ นอกจากจะทำให้น้อง ๆ ยิ้มและก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า ในทุกวิกฤติของชีวิตเขาจะไม่ถูกทอดทิ้งและเห็นความสำคัญถึงคุณค่าของการเป็นผู้ให้เมื่อเติบใหญ่ขึ้น”

อีกหนึ่งมุมมองสำคัญที่มีต่อการทำงาน ในโครงการครั้งนี้ คือ “การทำงานในสังคมไทยจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่นการทำงานในครั้งนี้ได้สอนให้เรียนรู้ถึงโมเดลการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในกลุ่มเปราะบาง อีกทั้งการทุ่มเททำงานของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทำให้สัมผัสได้ว่า กสศ. ไม่ได้ก้าวเดินเพียงลำพัง หากแต่ยังมีเครือข่ายที่พร้อมสนับสนุน พร้อมทุ่มเทพลังกาย พลังใจโดยไม่มีข้อแม้ อย่างไรก็ตาม งานจะยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะทาง กสศ. จะมีโปรแกรมเข้าไปเสริมให้น้อง ๆ เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสทางการศึกษา พร้อมทั้งการส่งเสริมด้านอุปกรณ์จากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งนับว่าเป็นการดูแลอย่างครอบคลุมทุกมิติ”