โครงการการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC เกิดขึ้นเพื่อขยายแนวคิดการจัดการศึกษาโดยใช้การพัฒนาทักษะชีวิตเด็กเป็นตัวตั้ง สร้างการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบด้วยนวัตกรรม ให้เด็ก ครู พ่อแม่ ชุมชน ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน โดยมีโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโรงเรียนต้นแบบ และพร้อมขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่น ๆ

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษา ไม่เก็บค่าเล่าเรียน ไม่เน้นผลสอบแข่งขัน แต่มุ่งมั่นในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะของคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์โดยเท่าเทียมกัน

ครูวิเชียร ไชยบัง ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา กล่าวว่า การจัดการศึกษาเชิงระบบ ประกอบด้วยหัวใจสำคัญ 2 ประการ

หัวใจประการแรกคือ การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ หมายถึงต้องทำให้ระบบหรือโครงสร้างบางอย่างในโรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงก่อน เพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของครู เด็ก และผู้ปกครอง

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่นี้ จะเน้นไปที่สิ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเรียนรู้ของครู ของเด็ก และของผู้ปกครอง และในที่สุดเครื่องมือนี้ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์กรใหญ่เอง นี่คือหัวใจประการแรกของการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบจิตศึกษา PBL และ PLC นวัตกรรมกระตุ้นการเรียนรู้

หัวใจประการที่สองคือ การใช้นวัตกรรม 3 อย่างกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ทั้งของครู เด็ก ผู้ปกครอง และชุมชน

โดยนวัตกรรม 3 อย่างนั้นประกอบด้วย จิตศึกษา PBL และ PLC ครูวิเชียรอธิบายว่า

  1. “จิตศึกษา” คือกระบวนการที่จะสร้างการเรียนรู้เพื่อความงอกงามด้านใน หรือ “ปัญญาภายใน”
  2. “PBL” หรือ Problem Based Learning คือกระบวนการที่จะสร้างการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดความงอกงาม ที่จะทำให้เข้าใจโลกภายนอก หรือ “ปัญญาภายนอก” และได้ทักษะของศตวรรษที่ 21 โดยทั้งสองนวัตกรรมจิตศึกษา และ PBL นี้ มุ่งเน้นการสร้างความรู้ให้กับเด็กผู้เรียนเป็นสำคัญ
  3. “PLC” หรือ Professional Learning Community คือกระบวนการสร้างความรู้ให้กับครูและองค์กร โดยสร้างชุมชนการเรียนรู้มุ่งเน้นสร้างความรู้ให้กับครู แล้วนำชุดความรู้จากการปฏิบัติมาเรียนรู้เพื่อให้เกิดปัญญาร่วมกันในชุมชนหรือองค์กร

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมสนับสนุนนวัตกรรมทางการศึกษา สร้างการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ครู ชุมชน และสังคม เพื่อขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่น ๆ โดยเห็นว่าแนวคิดในการเรียนการสอนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะสมอง ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เยาวชนของไทยในระยะยาว

ครูวิเชียรย้ำว่า “มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ การศึกษาที่แท้จริงจึงเป็นกระบวนการพัฒนาตัวเอง จากการตั้งคำถาม ปฏิบัติเพื่อค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ดังนั้นครูจึงไม่ใช่ผู้สอน แต่เป็นเสมือนผู้ร่วมทางที่จะช่วยประคับประคองนักเรียนไปบนเรือลำเดียวกัน”

จากลำปลายมาศพัฒนา วันนี้โรงเรียนได้ขยายแนวคิดทั้ง 3 เรื่องไปสร้างการเรียนรู้ให้ครู เด็ก ผู้ปกครองและชุมชน มีการสร้างโรงเรียนต้นแบบที่มีความพร้อมแล้วกว่า 40 โรงเรียน และมีโรงเรียนอีกกว่า 260 แห่งแสดงความสนใจที่จะนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้

การศึกษาที่แท้จริง เป็นกระบวนการพัฒนาตัวเองจากการตั้งคำถาม

ปฏิบัติเพื่อค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ดังนั้น
ครูจึงไม่ใช่ผู้สอน

แต่เป็นเสมือนผู้ร่วมทางที่จะช่วยประคับประคองนักเรียนไปบนเรือลำเดียวกัน

ครูวิเชียร ไชยบัง

ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
จังหวัดบุรีรัมย์
โครงการพัฒนาทักษะสมองเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน
เครือข่ายโรงเรียน