โครงการพัฒนายกระดับสินค้าชุมชนจังหวัดอุตรดิตถ์และสุราษฎร์ธานี โดยจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท Local Alike จำกัด (โลเคิล อไลค์) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นการต่อยอดโครงการศูนย์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน (Relearning Space@Library) โดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2563 ในการใช้ประโยชน์จากห้องสมุดประชาชนให้เป็นพื้นที่มากกว่าการอ่าน โดยสามารถเรียนรู้ สร้างทักษะใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ต่อยอดความรู้ผู้คนในชุมชน ด้วยการสร้างอาชีพที่สอง เพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชน
ดังนั้น ในโครงการยกระดับสินค้าชุมชน โครงการที่มุ่งจะยกระดับมุ่งมั่นพัฒนาและอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าของชุมชน ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนการสอน (E-Learning) จากผู้เชี่ยวชาญเพื่อเรียนรู้การจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างรายได้จากสินค้าที่พัฒนาในโครงการ หรือมียอดจำหน่ายไม่น้อยกว่า 100 ชิ้นต่อชุมชนในระยะเวลา 1-2 เดือน ทั้งนี้ทีมทำงานจาก Local Alike จะคอยสนับสนุนการสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน โดยเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ชุมชนสามารถนำไปต่อยอดและสร้างรายได้ออกมาเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
คัดสรรผลิตภัณฑ์ผ่านฐานรากของชุมชน
เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืน ประการแรกที่ต้องเอาใจใส่ คือ การคัดเลือกผลิตภัณฑ์โดยผ่านฐานรากของชุมชน Local Alike ให้ชุมชนคัดเลือกผลิตภัณฑ์์สำหรับนำมาพัฒนาต่อยอดด้วยตนเอง ซึ่งอาจมีจำนวนมากเท่าที่ชุมชนต้องการนำเสนอ ประการถัดมา คือ การคิดวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างชุมชนและ Local Alike ถึงความพร้อมของชุมชนในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือก โดยทดลองทำสินค้าสักชิ้นขึ้นมาอย่างจริงจัง โดยที่ทีมทำงานจาก Local Alike จะคอยให้คำปรึกษาถึงความเป็นไปได้บนเส้นทางการพัฒนาสินค้าในระยะยาว ซึ่งชุมชนต้องมีความสามารถนำไปต่อยอดได้ด้วยตนเอง ซึ่งต้องพิจารณาในด้านความพร้อมของชุมชนเป็นสำคัญ เพื่อให้การพัฒนาไม่เสียเปล่าและส่งผลประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนอย่างแท้จริง
ต่อยอดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
หลังจากพัฒนาจนได้ผลิตภัณฑ์ออกมาให้กับชุมชน จึงเข้าสู่กระบวนการทางการตลาด โดยทาง Local Alike จะสนับสนุนด้านความรู้ในเรื่องของการเปิด Platform online ให้กับชุมชน เพื่อเป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าและตอบโจทย์ตลาดในยุคปัจจุบัน ซึ่งจะมีการสอนหรืออบรมการเรียนรู้ถึงวิธีการใช้งาน เช่น เปิดช่องทางบน Facebook Fanpage หรือ Line Official Account ให้กับชุมชน เพื่อสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามีช่องทางของการจัดจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ ซึ่งภายหลังจากปรับรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยแล้ว Local Alike คาดหวังว่า รูปลักษณ์ใหม่หรือผลิตภัณฑ์โฉมใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ จะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากยิ่งขึ้นในระยะยาว ดังนั้น ถ้าตัวสินค้ารวมไปถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่ Local Alike บ่มเพาะอบรมให้กับชุมชน จะนำมาซึ่งรูปแบบการทำงานให้กับตัวของชุมชนเอง ดังนั้น ในอนาคตหากชุมชนต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ก็สามารถนำองค์ความรู้นี้ไปต่อยอดพัฒนา นำรายได้กลับสู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ปรับรูปแบบ เปลี่ยนกระบวนการ พร้อมรับวิกฤติโควิด-19
ก่อนการระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จะแพร่กระจายในสังคมไทย Local Alike มีวิธีทำงานโดยลงพื้นที่พูดคุยร่วมกับชุมชน กระทั่งเมื่อวิกฤติจากโรคร้ายเข้ามา ความระส่ำระสายเกิดขึ้นทั่วทุกองคาพยพในสังคม การปรับตัว เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยพลัน เพราะการพบหน้าต้องงดเว้นอย่างเด็ดขาด เป็นเหตุให้ Local Alike ต้องปรับรูปแบบและเปลี่ยนกระบวนการทำงานโดยใช้รูปแบบออนไลน์
ก้าวสู่อนาคตเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
โอกาสที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมอบให้กับ Local Alike ในครั้งนี้ช่วยเปิดเส้นทางให้พบการทำงานกับเครือข่ายชุมชนใหม่ ๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างแนวคิดในการส่งเสริมและพัฒนาชุมชน เป็นเสมือนประตูที่นำไปสู่ชุมชน ช่วยเปิดโอกาสให้ทาง Local Alike ได้ช่วยเหลือ สนับสนุน พัฒนา ตลอดจนยกระดับทั้งบริการและสินค้าของชุมชนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่ง Local Alike คาดหวังว่าการทำงานครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างต้นแบบในการสร้างรายได้ที่ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน