จากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และพฤติกรรมการหาข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ผู้ใช้บริการห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศลดลงเป็นลำดับ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ โดยการสนับสนุนของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกันเปลี่ยนวิกฤตนี้เป็นโอกาส ร่วมสร้างพื้นที่ห้องสมุดเป็นแหล่งการเรียนรู้ใหม่ โดยเดินหน้าโครงการศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน (Relearning Space @ Library)
เชื่อมโยงการอ่าน สู่การสร้างงานในชุมชน
ห้องสมุดประชาชน เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางของชุมชน โครงการศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน (Relearning Space @ Library) จึงมุ่งสนับสนุนการเชื่อมโยงการอ่านและการเรียนรู้ใหม่ ให้สอดคล้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากห้องสมุดประชาชนให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ สร้างทักษะใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ต่อยอดความรู้ ด้วยการสร้างอาชีพที่สองให้กับชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนในชุมชน
พื้นที่โครงการศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน (Relearning Space @ Library)
เริ่มต้นขึ้นที่ ห้องสมุดประชาชน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ ห้องสมุดประชาชน จังหวัดอุตรดิตถ์ ภายใต้การดูแลของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดอุตรดิตถ์ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินโครงการเป็นอย่างดี เพื่อเป้าหมายการเป็นศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืนต้นแบบ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563
โควิด – 19 พลิกวิกฤติเป็นโอกาส
ปี 2563 เป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ของทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อเศรษฐกิจระดับครัวเรือน จนถึงระดับโลก
ในระหว่างการดำเนินงานตามแผนงานของห้องสมุดประชาชนทั้ง 2 แห่ง ปรากฎว่าผลจากการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ได้ทำให้ห้องสมุดประชาชน เห็นโอกาสที่จะเริ่มต้นทดลองทำหน้ากากผ้า โดยเป้าหมายในช่วงแรก คือเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนที่ขาดแคลน โดยศึกษาและฝึกฝนด้วยตนเอง จนกระทั่งสามารถพัฒนาเป็นหน้ากากผ้าที่สวยงาม ใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ และ นำไปสู่การพัฒนาเป็นอาชีพได้ในที่สุด เกิดเป็นอาชีพแรกในโครงการศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน (Relearning Space @ Library) ที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับสถานการณ์อย่างยิ่ง
ห้องสมุดประชาชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ประชาสัมพันธ์เปิดสอนทำหน้ากากฟรีให้กับประชาชนในชุมชน ปรากฎว่ามีผู้สนใจเข้ามาร่วมด้วยจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ ได้ผลตอบรับที่ดี ก่อนที่จะพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ผ้า โดยการผลิตหมวก กระเป๋า ด้วยลายและสีที่เข้าชุด ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และได้รับการยอมรับจากชุมชน รวมทั้งหน่วยงานราชการให้ความสนใจสั่งผลิต
หลังจากการผลิตผลิตภัณฑ์จากผ้าที่หลากหลาย ก็ได้มีการพัฒนาอาชีพอื่น ๆ อาทิ อาหาร ทั้งคาวและหวาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ ยังมีองค์กรภาคีเครือข่ายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ร่วมส่งเสริมการใช้วัตถุดิบจากชุมชนเพื่อส่งเสริมการผลิตกระเป๋าผ้า ตะกร้าเชือกฟาง เป็นอาชีพเสริมในชุมชนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีการฝึกสอนการทำอาหารทั้งคาวและหวาน ที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ รวมทั้งการจัดทำบรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ ก็ได้มีการผลิตหน้ากากผ้าเพื่อบรรเทาความขาดแคลนของชุมชน ซึ่งเป็นประโยชน์และตอบโจทย์ความต้องการในภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัยได้เป็นอย่างดี โดยผลิตภัณฑ์จากผ้า ก็ยังเป็นความถนัดของชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านที่มาร่วมเรียนรู้ที่ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ การเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เพื่อนำไปใช้ในสวนและครอบครัวของตนเอง ตลอดจนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะการสอนมวยพระยาพิชัยดาบหัก
การเรียนรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น สร้างทั้งรายได้ ความสุข เกิดเป็นมิติใหม่ของความสัมพันธ์และความผูกพันของประชาชนในชุมชนที่ได้มาร่วมเรียนรู้ ฝึกฝน แลกเปลี่ยน จนได้อาชีพเสริมเป็นอาชีพที่สอง นอกจากนั้นยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างห้องสมุดประชาชนทั้ง 2 จังหวัดอย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ก่อให้เกิดความผูกพันที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังเป็นความร่วมมือขององค์กรภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงาน ที่ล้วนมีผลต่อความสำเร็จของโครงการศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน (Relearning Space @ Library) ในการบูรณาการบุคคลากรสามวัยเข้าร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และก่อให้เกิดความสุขจากโครงการฯ นี้เป็นอย่างดี