โครงการจ้างงานเยาวชนชนเผ่าและกลุ่มเปราะบางผู้ที่ตกงานจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยให้การอบรมเพื่อทำงานดูแลผู้สูงอายุ ดำเนินการโดย บริษัทบัดดี้โฮมแคร์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกันเสริมสร้างกลไกการดูแลผู้สูงอายุ ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในภาวะวิกฤติ ในเขตพื้นที่ 8 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยอำเภอเมือง อำเภอสะเมิง อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอจอมทอง พื้นที่จังหวัดเชียงรายในอำเภอแม่สรวย และจังหวัดลำปางในอำเภอห้างฉัตร โดยมีวัตถุประสงค์ให้ครอบครัวผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจนและอาสาสมัครจำนวน 1,000 คนได้รับความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุผ่านการอบรมและแอปพลิเคชั่นบัดดี้โฮมแคร์ และผู้สูงอายุในครอบครัวจำนวน 600 คนได้รับการดูแล ผู้ที่ตกงานจากสถานการณ์โควิด-19 และเยาวชนชนเผ่าในพื้นที่โครงการได้รับการจ้างงานจำนวน 36 คน
จากนักขับเคลื่อนสู่ผู้สร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม
วิสาหกิจเพื่อสังคม บัดดี้ โฮมแคร์ ริเริ่มมาจากการเล็งเห็นถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนสองช่วงวัยในประเทศไทย ได้แก่ ผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแลและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาในมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ จึงทำให้ คุณเจนวิทย์ วิโสจสงคราม (เจน) คุณนราธิป เทพมงคล (ยุ้ย) และคุณอรพรรณ์ มงคลพนาสถิต (เอ๋) หารือร่วมกันเพื่อก่อตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งการสร้างงานสร้างรายได้และการแก้ไขปัญหาทางสังคม
“เมื่อผู้สูงอายุในประเทศไทยประสบปัญหาที่เอื้อต่อการดูแลที่ดี ส่งผลให้ผู้สูงอายุที่มีฐานะปานกลางไม่สามารถเข้าถึงการบริการของคนรวย ในขณะเดียวกันก็ยังไม่จนมากพอจะเข้ากรอบบริการของคนจน” คุณเจนวิทย์ เล่าถึงสาเหตุของบัดดี้ โฮมแคร์ ที่วางเป้าหมายหลักในการช่วยกลุ่มผู้สูงอายุที่ตกหล่นจากการเข้าถึงการบริการที่ดีมีคุณภาพ พร้อมกันนั้นก็ประสานงานกับมูลนิธิที่ทำงานด้านเด็ก เพื่อนำพาน้อง ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าที่ขาดโอกาสทางการศึกษามายกระดับความรู้และทักษะ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุไปพร้อมกัน เปรียบเสมือนการยิงปืนเพียงนัดเดียว ได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของนกถึงสองตัว
“เดิมทีเราใช้อาสาสมัครเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ แต่พบว่าอาสาไม่ได้ต้องการทำงานด้านนี้เป็นหลัก จึงเปลี่ยนมาเป็นแนวคิดการคัดเลือกคนที่ต้องการหลุดพ้นจากความยากจนเข้ามาอบรม ทั้งด้านการทำงาน และทักษะชีวิต” ซึ่งผลปรากฏว่าเมื่อเยาวชนมีรายได้ และมีทักษะการบริหารจัดการการเงินที่ดี ครอบครัวก็มีภาระหนี้สินครัวเรือนลดลง มีต้นทุนทำการเกษตร ชุมชนจึงอยากส่งลูกหลานไปเรียนมากขึ้น จึงได้ทั้งแก้ไขปัญหาสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตคน และพร้อมกันนั้นก็เปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชน ให้เห็นคุณค่าของการศึกษา ซึ่งมีกรณีให้เห็นแล้วในเชิงประจักษ์ สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้บัดดี้ โฮมแคร์เชื่อในแนวทางที่เดินอยู่และมีแรงผลักดันที่จะก้าวไปข้างหน้า