โครงการนิทานเดินทาง ออนแอร์ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จับมือร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อนำพาสังคมไปสู่การเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการเล่านิทานผ่านหนังสือภาพชั้นดี ซึ่งมีความสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรม คือการแพร่กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเยาวชนได้รับผลประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาสมองเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน เครือข่ายสาธารณสุขใน 8 อำเภอ จังหวัดเชียงราย และโครงการศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน: Relearning Space@Library ใน 5 จังหวัด เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้อย่างยั่งยืน โดยมีผู้ที่ได้รับผลประโยชน์แบ่งเป็น เด็กเล็กทั่วประเทศที่ผู้ปกครองสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์หรือในโรงเรียนที่เข้าถึงสื่อออนไลน์ จำนวน 1,000 คน ผู้ปกครองหรือครูโรงเรียนเด็กเล็กที่สามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ จำนวน 500 คน และเด็กเล็กจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน 8 อำเภอของจังหวัดเชียงราย

ก่อนนิทานจะเดินทางมาออนแอร์

ครูชีวัน วิสาสะ ผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือภาพสำหรับเด็ก ได้เริ่มต้นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า “คนเราไม่ควรหยุดพัฒนาตนเอง” และแน่นอนว่าหนึ่งกิจกรรมสำคัญของการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ ปลูกฝังให้รักการอ่านตั้งแต่เยาว์วัยโดยใช้นิทานภาพชั้นดีเป็นสื่อกลางสำคัญ

ย้อนกลับไปก่อนที่คนในสังคมไทยและทั่วทุกมุมโลกจะประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครูชีวัน ได้ซื้อรถเพื่อดัดแปลงเป็นรถนิทานสำหรับใช้ใน “โครงการนิทานเดินทาง” ออกตระเวนเล่านิทานและแบ่งปันหนังสือนิทานให้กับเด็ก ๆ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด นับเป็นก้าวย่างสำคัญของการเปิดโลกแห่งจินตนาการและสร้างสรรค์การเรียนรู้ให้เกิดขึ้น

กระทั่งเมื่อวิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาด การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนจำต้องหยุดชะงักลง เช่นเดียวกับนิทานเดินทางที่ไม่สามารถไปหาเด็ก ๆ ยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้เหมือนเช่นเคย แต่ครูชีวัน ไม่เคยหยุดค้นหาวิธีการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ จึงคิดค้นและปรับเปลี่ยนกระบวนการจนเกิดเป็น “นิทานเดินทาง ออนแอร์” โดยเริ่มทำรายการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเล่านิทาน อ่านหนังสือภาพ รวมถึงออกแบบสื่อสร้างสรรค์ในรูปแบบออนไลน์ เผยแพร่ทางช่องยูทูปและสื่ออินเตอร์เน็ตอื่น ๆ ที่มุ่งเน้นให้ผู้ปกครองและผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กได้นำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับหนังสือภาพชั้นดีที่ทางรายการจัดเตรียมเพื่อแบ่งปันตามเงื่อนไขในแต่ละช่วงของรายการ

“ตอนนั้นครูเองได้ทำคลิปเพื่อให้ความรู้กับพ่อ แม่ และครูสำหรับนำไปใช้ในช่วงที่มีการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ ให้เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ติดตามครูชีวันได้นำไปใช้ประโยชน์ และต้องขอบคุณความผูกพันที่มีกับมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงความตั้งใจตรงกันในการสนับสนุนนิทานให้เดินทางบนโลกออนไลน์ โดยครูเองทำคลิปหลายส่วน ทั้งที่ให้เด็กดู ส่วนที่อ่านให้ฟัง ส่วนที่เป็นเกมส์ และแผ่นพับกิจกรรม โดยผู้ใหญ่สามารถเข้าชมได้หมด เพื่อได้เห็นรูปแบบและวิธีการที่ครูชีวันใช้สื่อสารกับเด็ก ทั้งการทำเกมส์ การตั้งข้อสังเกตและการหาคำตอบ เพื่อให้นำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่”

กระบวนการนิทาน ออนแอร์

เพื่อให้การเดินทางของนิทานนำพาความรู้สู่เด็กเล็ก ผู้ปกครองและครูจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ทางโครงการนิทานเดินทาง ออนแอร์จึงประกาศรับสมัครอาสาพาอ่าน ผู้ทำหน้าที่เสมือนครูชีวัน ที่จะคอยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กในทุกที่ที่หนังสือนิทานเดินทางไปถึง

หลังจากเด็ก ๆ และผู้ปกครองหรือครูได้ดูและทำกิจกรรมร่วมกับครูชีวัน ผ่านคลิปต่าง ๆ ทั้งการฟังนิทาน การทำกิจกรรมผ่านแผ่นพับรวมถึงการเล่นเกมส์แล้ว ให้ทุกคนส่งการบ้านกลับมา เพื่อรับหนังสือชุดนิทานเดินทางจำนวน 100 เล่ม ประกอบด้วยอีเล้งเค้งโค้ง 50 เล่ม อ่านเพื่อ 25 เล่ม และอ่านได้เสียงดัง 25 เล่ม ซึ่งเป็นเพียงชุดเบื้องต้น เพราะในแต่ละช่วงตอนของการออนแอร์ ครูชีวัน จะส่งหนังสือภาพชั้นดีที่มีสะสมไว้เป็นจำนวนมากไปให้กับเหล่าอาสาพาอ่านที่เข้ามาทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีบุรุษไปรษณีย์รับหน้าที่นักเดินทาง

เกมส์กระตุกความคิด

หนึ่งกิจกรรมสำคัญซึ่งเกิดจากความเชื่อของครูชีวัน ที่ว่า “การเข้าใจอะไรที่ลึกซึ้งต้องเริ่มต้นจากการตั้งคำถาม” ครูจึงสอดแทรกการเล่นเกมส์ลงไปในคลิป ยกตัวอย่างเช่น เกมส์ตัวลข ที่มีลักษณะของเกมส์อันหลากหลายแต่มุ่งหมายให้เด็ก ๆ รู้เพียงเรื่องตัวเลขเท่านั้น ดังคำกล่าวของครูที่ว่า “คำตอบนั้นมีหนึ่งเดียวแต่วิธีการถามนั้นหลากหลาย คอนเซ็ปต์คือ 1 คำตอบ หลายคำถาม ทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งเป็นการฝึกสมองที่ไม่ยากแต่ต้องใช้ความคิดเป็นอย่างมาก จุดนี้หากเข้าใจจะเป็นการแก้จุดอ่อนของนักเรียนหรือครูโดยทั่วไปที่ไม่รู้จักตั้งคำถามและช่วยสร้าง EQ ให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี”

คำตอบนั้นมีหนึ่งเดียวแต่วิธีการถามนั้นหลากหลาย
คอนเซ็ปต์คือ 1 คำตอบ หลายคำถาม ทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่าง
ซึ่งเป็นการฝึกสมองที่ไม่ยากแต่ต้องใช้ความคิดเป็นอย่างมาก
จุดนี้หากเข้าใจจะเป็นการแก้จุดอ่อนของนักเรียนหรือครูโดยทั่วไป
ที่ไม่รู้จักตั้งตำถามและช่วยสร้าง EQ ให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี

ครูชีวัน วิสาสะ

อาสาพาอ่าน พานิทานไปหาหนู..หนู

อาสาพาอ่าน ตัวแทนส่งทอดหนังสือนิทานให้แพร่กระจายออกไปในวงกว้าง หรือผู้สร้างความสุขในครอบครัวจากการทำกิจกรรมร่วมกัน ดังเช่น ครอบครัวจากหมู่บ้านจัดสรรในจังหวัดสมุทรสาคร ที่ผู้ปกครองชักชวนบุตรหลานและเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาดูคลิปนิทาน และปริ้นท์แผ่นพับเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน จากนั้นจึงส่งภาพถ่ายแทนการบ้านเข้ามายังหน้าเพจนิทานเดินทาง หรือครูระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านหนองเจ๊กสร้อย อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ได้เปิดคลิปวิดีโอผ่านยูทูปให้เด็กดูและนำแผ่นพับของครูชีวันไปทำเป็นใบงานให้เด็กได้เรียนรู้ ซึ่งนับเป็นการต่อยอดความคิดและประยุกต์ใช้ตามบริบท โดยยังคงเป้าหมายหลัก คือ เกิดการสื่อสารกันผ่านการเล่านิทาน

การเดินทางของนิทานในบทต่อไป

นิทานเดินทาง ออนแอร์รูปแบบหนึ่งสำหรับส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กเล็กในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 และได้กลายเป็นบทท้าทายการทำงานของทุกคนไม่เว้นกระทั่งนักพัฒนาเช่น ครูชีวัน ที่กล่าวว่า “รูปแบบออนแอร์ทำให้ได้เรียนรู้ พัฒนาศักยภาพของตนเองในการปรับตัว ทั้งด้านการคิดจนเกิดเป็นแนวทางใหม่ ๆ ความคิดใหม่ ๆ ได้กลับมาคิดทบทวนถึงสิ่งที่ทำลงไปว่ามากหรือน้อยเกินไปหรือไม่” ดังนั้น แม้ว่าโรคถึงคราวสิ้นสุดผู้คนกลับมาใช้ชีวิตดังปกติ ครูชีวัน ก็ยังคงจะพัฒนาวิธีการและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพราะครูเชื่อว่า “งานพัฒนาจะไม่มีวันจบลง” นิทานเดินทางครูชีวันจะมุ่งหน้าก้าวเดินต่อไปในอนาคต ซึ่งครูวางแผนจะทำรถนิทานเดินทางให้มีลักษณะคล้ายห้องสมุดขนาดเล็กโดยใช้รถสกายแลปบรรทุกหนังสือนิทานอยู่เต็มเปี่ยม ตระเวนเล่านิทานในพื้นที่ที่ไม่ไกลนักเพื่อส่งกระจายและปลูกฝังการเรียนรู้ต่อไป

เพราะหนังสือคือตัวเชื่อมของการพัฒนาผู้คนและสังคม